เชื่อว่าหลายคนคงพิศวงกับธีมงานกาล่าที่แฟบูลัสที่สุดงานหนึ่งของนิวยอร์ก คืองาน Met Gala 2019 ที่มาในธีม Camp ว่าแต่แคมป์นี้หมายถึงอะไรในวงการแฟชั่นกันล่ะ? มาอ่านบล็อกนี้มีคำตอบบบ
ทำความรู้จักกันก่อน งาน Met Gala คืองานราตรีการกุศลเพื่อระดมทุนให้แผนกเครื่องแต่งกายของพิพิธภัณฑ์ New York’s Metropolitan Museum of Art โดยจัดงานขึ้นเพื่อฉลองนิทรรศการเปิดใหม่ในปีนั้นๆ ด้วยการเชิญบรรดาเหล่าเซเลบแขนงต่างๆ มาร่วมระดมทุนสำหรับทำนิทรรศการใหม่ซึ่งจะมีธีมแบบเดียวกับธีมงานปีนั้นๆ และหัวข้อนิทรรศการและธีมชุดราตรีสำหรับปีนี้คือ “Camp”

พอคิดถึงความหมายตรงตัวของ Camp ทุกคนคงจะคิดถึงแคมป์เข้าป่ารอบกองไฟอะไรทำนองนั้น แต่แคมป์ในแง่ของแฟชั่นเป็นอีกเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเต้นท์เลย
นิยามของ Camp Fashion ตั้งอยู่บนฐานของคำเหล่านี้คือ ความตลกขบขัน น่าหัวเราะ ประชดประชันเสียดสี ความเว่อร์วังแบบนาฎนิยม ความล้นความเยอะ ความฟุ่มเฟือย และความเหนือจริง
ที่มาของความชัดเจนในนิยาม Camp ในแวดวงแฟชั่นคือบทความของ Susan Sontag ที่เขียนในปีค.ศ.1964 อธิบายความแคมป์ไว้ว่า “ความรักในสิ่งพิศดารกว่าธรรมชาติ มีชั้นเชิงและเหนือกว่าความเป็นจริง” [love of the unnatural: of artifice and exaggeration.]
แนวคิดของ Camp ถูกผนวกเข้ากับกลุ่ม Queer ซึ่งมีการปลุกระดมจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเรื่องลดความเป็นชายขอบของคนบางกลุ่ม เพิ่มบทบาทและจุดยืนให้กับเพศทางเลือก เหมือนอย่างที่ Camp เองก็ถูกนำไปนิยามความผิดแปลกไปจากปกติของสังคมหรือเพศซึ่งไม่เป็นสองขั้วแค่ชายและหญิง

ในระยะแรกการแสดงออกของแฟชั่นแนวนี้คือการ Cross-dressing (การแต่งกายข้ามเพศ) อย่างหนึ่ง คือนิยมในการนำชุดของเพศตรงข้ามมาสวมใส่ โดยที่อาจจะมีหรือไม่มีภาวะการข้ามเพศเลยก็ได้ หรือการแต่งกายด้วยแฟชั่นที่ไม่แบ่งแยกเพศ เพศชายอาจจะทำการสวมใส่เสื้อผ้าของผู้หญิง หรือหญิงสาวอาจสวมใส่แฟชั่นเสื้อผ้าอย่างชาย หรือจะรวมทั้งสองแบบ ในส่วนของแฟชั่นแบบ Cross-dressing นี้จะนำมาเล่าในภลายหลังนะคะ ตอนนี้เอาแบบพอสังเขปไปก่อน

ตัวอย่างที่เป็นการแสดงออกถึงแฟชั่นแบบไม่แยกเพศในงาน Met Gala 2019 ที่ชัดเจนชุดหนึ่งคือดีไซน์ของ Gucci ที่แฮรี่ สไตล์สสวมใส่ คือการนำซีทรูและลูกไม้ระบายช่วงบน ก่อนจะตีกางเกงขาตรงแบบชุดสุภาพชาย เป็นการสะท้อนความ Non-Binary ที่เข้ากับธีมงานเป็นอย่างดีค่ะ
ในระยะต่อมาราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตอนปลายไปจนถึงคริสต์ศตววรษที่ 20 เริ่มมีการตื่นตัวเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น มีนักคิดให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีไว้มากมาย ซึ่งเป็นพัฒนาการต่อเนื่องมาจากกระแสเฟมินิส์ (Feminism) คือการเรียกร้องสิทธิในความเท่าเทียมกันของเพศหญิงและชาย ก่อนแนวคิดจะพัฒนามาจนถึงการมองว่าแม้แต่เพศทางเลือกหรือ LGBTIQ นั้นก็มีสิทธิและควรได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันโดยปราศจากอคติและการแบ่งแยก
ความ Camp ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงเป็นแฟชั่นฮิตในกลุ่ม Queer นำเสนอการสะท้อนภาพของความหลากหลายทางเพศ มีความ Non-Binary ด้วยการนำภาพจำของเครื่องแต่งกายชายและหญิงเข้ามาผนวกผสมผสานกัน ทำให้เส้นแบ่งของเพศดูเจือจางลง และไม่อ้างอิงอยู่บนตรรกะการแบ่งแยกเพศด้วยอวัยวะสืบพันธุ์เพียงอย่างเดียวด้วยมองว่าเรื่องเพศเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางอารมณ์ ค่านิยมวัฒนธรรมมากกว่า

ในการออกแบบเสื้อผ้าสไตล์นี้นอกจากจะเล่นการเบลอเส้นแบ่งระหว่างเพศแล้วก็ยังมีการสอดแทรกภาพสะท้อนสังคมกึ่งวิพากษ์ด้วยการเลือกใช้ลวดลายหรือประเภทของผ้ากับการตัดเย็บให้ดูมีนัยยะแอบแฝงมากขึ้น มีการหยิบยกรูปแบบเสื้อผ้าละครเวที หรือเพิ่มความเหนือจริงด้วยการประโคมส่วนประกอบที่ดูล้นๆ ดูไม่สามารถใส่ได้จริงๆ คงเพื่อต้องการแสดงความไม่ปกติ ภาวะของการถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดให้คนเห็นภาพได้ชัดขึ้นและพยายามทำให้ภาพลักษณ์นั้นจับต้องได้ เป็นมิตร และทำให้เกิดทัศนคติเชิงบวกกับผู้พบเห็น

ถึงตรงนี้ใครบางคนอาจยังงงๆ อยู่ว่าตกลงแล้ว Camp มันคืออะไรกันแน่? ถึงจะบอกว่าเป็นแฟชั่นแปลกๆ เยอะๆ มันก็มีสไตล์เดิมๆ อยู่แล้ว แคมป์แตกต่างจากแฟชั่นอื่นๆ บนโลกยังไงนะ? ต้องบอกว่าความ Camp นี้มักจะมีการเปลี่ยนแปลงความเยอะไปแตกต่างกันในแต่ละช่วงสมัย ดังนั้นทิศทางของแฟชั่นแคมป์ตอนนี้ยังไม่สิ้นสุด เพราะขึ้นอยู่กับการตีความและเลือกใช้ของดีไซเนอร์ ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นรูปแบบใหม่ๆ ของแฟชั่นแนวนี้มากขึ้น ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่ get เพราะมันค่อนข้างยืดหยุ่นเหมือนอย่างนิยามความหลากหลายทางเพศนี้เอง
ใครสนใจอยากชมภาพแฟชั่นในงาน Met Gala 2019 สามารถกดเข้าไปดูทางเว็บไซต์ของ Vogue ได้เลยค่ะ หรือหากสนใจนิทรรศการและสะดวกอยู่ USA ก็สามารถไปเดินชมได้ที่ The Met เลย ^^