พลิกแปลกแหวกแนวกันมาเลยกับบล็อกนี้ ที่จะมาพูดเรื่อง “ศาสตร์แห่งการมัด” ซึ่งหลายๆ คนอาจจะคิดไกลไปถึงเรื่องหนังโป๊แนวๆ BDSM ใช่ฮะ…ท่านมาถูกทางแล้ว บล็อกนี้จะขอเกริ่นถึงที่มาของปมอีโรติกในการมัดกันว่ามีความเป็นมาอย่างไร

จะบอกว่ามาอัพแบบแหวกทางโค้งของบล็อกก็ไม่ได้ เพราะนี่ก็อยู่ในความสนใจแต่แรกอยู่แล้ว แค่ช่วงนี้มาเวิ่นกะสาย Beauty หนักไปหน่อย เผอิญพอกลับมาตั้งใจจะเขียนนิยายที่ค้างไว้ ก็เลยเจอข้อมูลที่น่าสนใจ นั่นคือเรื่องการใช้เชือกในการละเล่นแบบเซ็กส์พิสดาร
เคยเห็นมั้ย ตามภาพหนังสายโหด หรืองานศิลปะเชิงอีโรติกของญี่ปุ่น จะมีภาพการใช้เชือกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และปมในการมัดนั้นก็ดูพิถีพิถันเกินกว่าจะแค่เอาเชือกมามัดปมกันเฉยๆ ทางนี้ก็เลยสงสัยว่าไอ้การมัดเชือกแบบนี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร มีหลักการอย่างไร จึงค้นต่อไปเจอสามคำนี้ Hojojutsu, Kinbaku และ Shibari
คราวนี้จะพูดถึงเรื่องแรกกันก่อน คือ Hojojutsu 捕縄術

นิยามของ Hojojutsu คือศิลปะป้องกันตัวแขนงหนึ่ง เกิดความนิยมในสมัยเอโดะ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยมีนัยยะว่าเป็นศิลปะในการใช้เชือกเพื่อเป็นอาวุธป้องกันตัว และควบคุมกำราบศัตรูอย่างรวดเร็ว ใช้กันตั้งแต่ในสนามรบ จนพัฒนาเข้ามาสู่กระบวนการทางกฏหมาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมตำรวจญี่ปุ่น (ปัจจุบันยังมีอยู่ไหม ไม่แน่ใจ) โดยภายหลังถูกเรียกว่า Torinawajutsu ซึ่งเป็นคำอ่านอีกแบบของตัวคันจิแบบเดียวกัน ความหมายยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

หากจะเปรียบเทียบถึงศิลปะในการมัดที่ปราณีตกว่าอย่าง Kinbaku และ Shibari (ที่จะขอกล่าวในบล็อกหน้า) Hojojutsu ก็เหมือนการเบิกทางไปสู่การมัดของทั้งสองแบบข้างต้น โดยมีหลักการในการจู่โจมอย่างรวดเร็วและจับกุมคู่ต่อสู้ให้จำนนไร้ทางต่อกรโดยมีการใช้เชือกมามัดเป็นปมแน่นในท้ายที่สุด ลักษณะการมัดนี้ มิใช่เพียงการนำเชือกมาพันรอบตัวแล้วมัดง่ายๆ แต่เป็นการออกแบบเทคนิคการวางแนวเชือกและวางปมอย่างแยบยล ไม่ให้แน่นเกินไป แต่ไม่หลวมเกินไป อีกทั้งยังพลิกแผลงได้อีกว่าหากมีการพยายามแกะบางจุดออก อีกจุดก็อาจจะแน่นขึ้น นับว่าเป็นกลเม็ดที่ยากต่อการหลบหนีจริงๆ นอกจากนี้ “ปมเชือก” ยังอาจเป็นตัวบ่งบอกสถานภาพของผู้ถูกพันธนาการอีกด้วย

หลักในการใช้เชือกโดยทั่วไปในการฝึก
- ใช้วัสดุเชือกที่เป็นเส้นใยธรรมชาติ
- เชือกควรมีเส้นผ่านศูนย์กลางที 4-6 mm.
- เชือกสีๆ อาจจะหายากสักหน่อย แต่แบบสีดำค่อนข้างจะเห็นได้บ่อยกว่า
- ความยาวของเชือกโดยทั่วไปจะเริ่มต้นที่ 3.5 เมตร หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าตามสะดวกของผู้ใช้
โดยจะต้องกระทำโดยการใช้ความรวดเร็วของเทคนิคในการใช้เชือก และยังคงปฏิบัติตามกฏประเพณีคือ
- จะต้องแน่นมากพอที่ผู้ถูกมัดจะดิ้นไม่หลุด
- การมัดจะต้องไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บใดๆ บนร่างกาย และจิตใจ (เอ๊ะ ถ้าไม่ให้กลัว แล้วพี่จะผูกทำไม)
- ห้ามให้คนอื่น โดยเฉพาะคนถูกมัด เห็นเทคนิคการขมวดปม
- ตรวจสอบให้แน่นอนว่าปมนั้นมัดไว้แน่นหนาด้วยเทคนิคชั้นสูง
ทั้งนี้เทคนิคในการมัดปม กลายเป็นความลับขั้นสุดยอดที่จะบอกต่อกันระหว่างครูลูกศิษย์เท่านั้น หรือบางทีอยู่ในรูปแบบของการซื้อขายเทคนิคเพื่อเรียนรู้ภายหลัง ภายในสำนักต่างๆ
ตัวอย่างวิดีโอสอนมัด Hojojutsu (เวอร์ชันฝรั่งสอน)
ศาสตร์แห่งการมัดนี้ เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในระบอบศักดินา และสงครามกลางเมือง เพราะจำเป็นต่อการใช้งานในการจับกุมผู้กระทำความผิด ศัตรูของเจ้าแคว้น หรือเชลยศึกต่างๆ ซึ่งจำต้องมีการควบคุมตัวไว้สอบสวนคดีความ รอพิจารณาโทษ หรือแลกเปลี่ยนตัวนักโทษหรือเชลยไปยังที่ต่างๆ จนกระทั่งถึงการทรมาน และลงโทษผู้กระทำผิด

ตำรวจสมัยเอโดะ จะมีการพกพาเชือกไว้ใช้งานในลักษณะเดียวกับอาวุธเสมอ เผื่อไว้ในสถานการณ์ที่ต้องเข้าจับกุมโจรผู้ร้าย รวมถึงตำรวจสมัยใหม่ก็ยังคงมีกฏให้มีการใช้เชือกในลักษณะเช่นนี้ได้
โดยลักษณะของการพกพาเชือกในสมัยเอโดะมีสองลักษณะคือ…
- การพกแบบขมวดนอกเสื้อเหน็บเอว (kagenawa 陰縄) ในรูปด้านซ้าย
- การพกแบบซ่อนปลายในแขนเสื้อ (hinawa 陽縄) ในรูปด้านขวา (ปกติจะถูกคลุมด้วยชายเสื้อ)
มาดูรูปแบบของการมัด “ปม” แบบต่างๆ ของHojojutsuกัน
รูปแบบแรกที่จะนำเสนอคือ Shingyōsō 真行草

ซึ่งเป็นการประยุกต์เอาหลักการของคำโบราณสามคำมาผนวกในศิลป์แขนงนี้ โดยปรากฏอยู่ในรูปแบบการมัดของบางสำนักที่สอนคือ Hōen-ryū (方圓流), Ichiden-ryū (一傳流), Sasai-ryū (笹井流), Taishō-ryū (大正流) และ Kentoku-ryū (劍徳流).



ดังจะเห็นได้ว่าแต่ละสำนักก็มี 3 กระบวนท่าบนหลักการเดียวกัน โดยในรูปแบบแรกที่เรียกว่า sō จะเป็นการผูกเงื่อนพันธนาการอย่างง่าย ไม่ซับซ้อน สะดวกต่อการถอดถอน การผูกแบบโดยใช้หลักการ sō จะเน้นไปที่ความรวดเร็ว เพราะเป็นกระบวนท่าที่อยู่ในขั้นตอนของการรวบรัดจับตัวศัตรู จึงเรียกอีกอย่างว่า Hayanawa (早縄) ส่วนรูปแบบ Shin จะแสดงถึงความแน่นหนา และซับซ้อนมากกว่า เหมาะสำหรับการพันธนาการในระยะยาว เรียกว่า honnawa (本縄) ส่วน gyō คือลักษณะของการประยุกต์คลี่คลายระหว่างความซับซ้อนของ Shin และความว่องไวของการมัดแบบ sō
โอย…แค่สเต็ปเดียว ก็น้ำหมากกระจายตอนพยายามจะเข้าใจแล้ว ลมปราณแตกซ่านไปหมด สิ้นซึ่งความสยิวกิ้วด้วยความเครียดในการแปล และสืบค้น จำต้องขอลาในหัวเรื่องศาสตร์แห่งการมัดไปก่อน คราวหน้าค่อยเข้าปมสวาทกันอย่างจริงๆจังๆค่ะ
แปลและเรียบเรียงข้อมูลจาก
http://www.jaderope.com/
http://www.sib-jitsu.ru/seminars/hojojutsu.shtml
🌙 Instagram : @Deadlydoll
🌙 Youtube : Deadlydoll Vanessa
🌙Email : deadlydollvanessa[at]gmail.com
One thought on “เรื่องเชือกๆ กับศิลปะการมัดแบบญี่ปุ่น 1 : Hojojutsu 捕縄術 ต้นตำรับศาสตร์แห่งการมัด”